บางครั้ง ไวน์เป็นเรื่องที่เข้าถึงยากสำหรับคอไวน์หัดจิบ เพราะมีคำศัพท์เฉพาะเยอะที่ต้องจด และจำ ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับรสชาติ และคุณลักษณะต่างๆของไวน์ แต่การมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศัพท์ไวน์ ก็สามารถช่วยให้เราเข้าใจไวน์ที่จิบได้ดีขึ้น
ต่อไปนี้เป็นศัพท์ไวน์ที่คุณมักพบทั่วไปตามงานไวน์ต่างๆ แต่เนื่องจากศัพท์เหล่านี้อาจจะมีเยอะสักหน่อย เราจึงขอแบ่งเป็นตอนๆไป โดยในตอนที่ 1 นี้ จะรวบรวมคำศัพท์ที่เริ่มต้นด้วยอักษร A ถึง E
Acetic:
ไม่ว่าไวน์จะถูกผลิตออกมาอย่างไร จะมีรสเปรี้ยว ซึ่งมีกลิ่นคล้ายๆน้ำส้มสายชู vinegary smell. แต่ถ้าไวน์มีรสเปรี้ยวมากเกินไป ก็จะกลายเป็นน้ำส้ม หรือที่เรียกว่า “acetic wine”
Acidic:
ไวน์จำเป็นต้องมีส่วนประกอบของความเป็นกรดธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “แอซิดิตี้” (acidity) ซึ่งทำให้ไวน์มีรสชาติสดชื่น และมีชีวิตชีวา แต่ถ้าไวน์ส่วนประกอบนี้มากเกินไป ก็จะทำให้ไวน์เปรี้ยว หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “acidic wine”
Acidity:
ส่วนประกอบของความเป็นกรดที่มีอยู่ในไวน์ตามธรรมชาติ ระดับของแอซิดิตี้ มีผลต่อการดื่มด่ำสุนทรียรสของไวน์ กรดธรรมชาติที่มีอยู่ในไวน์ ประกอบไปด้วยกรดซิตริก, กรดทาร์ทาริก, กรดมาลิก และกรดแลคติก ไวน์ที่ผลิตในปีที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนจัด จะมีแอซิดิตี้ในระดับต่ำ แต่ไวน์ที่ผลิตในปีที่มีอากาศหนาวเย็น มีฝนตกชุก จะมีแอซิดิตี้ในระดับสูง แอซิดิตี้ยังช่วยรักษารสชาติที่สดชื่นในไวน์ แต่หากไวน์มีแอซิดิตี้มากเกินไป จะทำให้ผู้จิบไม่สามารถสัมผัสรสชาติอื่นๆของไวน์ได้อย่างชัดเจน และทำให้เนื้อสัมผัสของไวน์แปรเปลี่ยนไป
Aftertaste:
หลังจากจิบและกลืนไวน์ลงคอไปแล้ว ไวน์จะทิ้งรสชาติค้างไว้ในปาก รสชาติที่คงค้างนี้เรียว่า รสชาติหลังจิบ(aftertaste) นอกจากนี้ ยังมีศัพท์อื่นที่มีความหมายคล้ายๆกันที่ใช้ในภาษาอังกฤษ เช่น คำว่า “length” หรือ “finish” โดยไวน์ยิ่งมีคุณภาพดี ก็จะยิ่งทิ้งรสชาติหลังจิบไว้นาน
Aggressive
ใช้เรียกไวน์ที่มีรสฝาดหรือเปรี้ยวจนเกินไป หรือทั้งเปรี้ยวและฝาดเกินไป
Angular:
ใช้เรียกไวน์ที่ขาดความกลมกล่อม ขาดรสที่ลึกและซับซ้อน บางครั้งใช้เรียกไวน์ที่มีวินเทจแย่ ซึ่งมักจะมีรสเปรี้ยวจนเกินไป
Aroma:
อโรม่า ใช้นิยามกลิ่นของไวน์ใหม่ ก่อนที่จะถูกบ่มจนมีกลิ่นหอมที่เรียกกันว่า “บูเก้” (bouquet) มักใช้กับกลิ่นของไวน์ที่ค่อนข้างใหม่ และยังไม่ได้เริ่มต้นพัฒนาจากการบ่ม
Astringent:
ใช้เรียกไวน์ที่มีรส และเนื้อสัมผัสหยาบ ซึ่งอาจเป็นเพราะไวน์ยังเป็นไวน์ใหม่ มีแทนนินสูง และยังต้องบ่มต่ออีกระยะหนึ่ง หรืออาจจะเป็นไวน์ที่ยังทำออกมาได้ไม่ได้เท่าที่ควร ระดับของแทนนินจะมีผลต่อรสที่กร้านของไวน์
Austere:
ใช้เรียกไวน์ที่มีรสชาติสมถะ ค่อนข้างดราย แต่ขาดความเข้มข้น และซับซ้อน โดยทั่วไป ไวน์ใหม่จากเขตโรน มักไม่ค่อยมีรสชาติสมถะเท่ากับไวน์ใหม่จากเขตบอร์โด
Backward:
นี่คือคำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบาย (1) ไวน์ใหม่ที่ยังไมได้รับการบ่มในระยะเวลาที่เหมาะสม และยังไม่เหมาะนำมาจิบ (2) ไวน์ที่ยังไม่พร้อมดื่ม หรือ (3) ไวน์ที่ไม่ยอมเผยเสน่ห์ และอัตลักษณ์ของตัวเองออกมา
Balance:
หนึ่งในคุณลักษณะของไวน์อันเป็นที่ต้องการในหมู่นักจิบมากที่สุด คือ ต้องมีบาลานซ์ หรือรสสมดุลที่ดี ไวน์ที่มีบาลานซ์ดี จะต้องสัมผัสได้ถึงรสชาติของน้ำองุ่นที่เข้มข้น มีระดับแทนนิน และแอซิดิตี้ที่สมดุลกลมกลืน ไวน์ที่มีบาลานซ์ดียังมีแนวโน้มที่จะให้รสชาติอร่อยเมื่อบ่มนานอีกด้วย
Barnyard:
ใช้อธิบายอโรม่าที่ส่งกลิ่นคล้ายมูลสัตว์ที่อยู่ในไวน์ เป็นกลิ่นที่ไม่สะอาด อันเนื่องมาจากถูกบ่มในถังที่ไม่สะอาด หรือผ่านเครื่องมือการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
Berrylike:
ไวน์แดงส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับโน้ตที่เข้มข้นของผลเบอร์รี่ ซึ่งอาจหมายถึง แบล็คเบอรี่,ราสเบอร์รี่, แบล็คเชอร์รี่, มัลเบอร์รี่ หรือแม้แต่สตรอเบอร์รี่ และแครนเบอร์รี่
Big:
ใช้อธิบายไวน์ที่มีคุณลักษณะ full-bodied ให้สัมผัสและรสชาติที่เข้มข้น โดยไวน์แดงส่วนใหญ่จากเขตโรนมักมีคุณลักษณะเช่นนี้
Blackcurrant:
กลิ่นแบล็คเคอเรนท์มักจะมีอยู่ในไวน์จำนวนหนึ่งจากเขตโรน ระดับของกลิ่นแบล็คเคอเรนท์มีตั้งแต่หอมจางๆ จนจนหอมเข้มข้นมาก
Body:
ใช้กล่าวถึงน้ำหนัก และความเต็มรสของไวน์ โดยลิ้นของผู้จิบสามารถสัมผัสได้ ไวน์ที่มีคุณลักษณะฟูลบอดี้ (Full-body) มักเป็นไวน์ที่มีระดับแอลกอฮอล์สูง มีความเข้มข้น และมีกลีเซอรีน(glycerin)สูง
Botrytis cinerea:
เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อผิวองุ่น โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนสภาพอากาศ จากอากาศชื้นไปอากาศร้อน โดยเชื้อรานี้จะเข้าไปทำให้องุ่นสูญเสียน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลให้เนื้อองุ่นมีมีความเหนียวข้น อย่างไรก็ตาม เชื้อราตัวนี้มีความจำเป็นสำหรับไวน์ขาวหวานจากแหล่งผลิต Barsac และ Sauternes ส่วนในเขตโรน แทบจะไม่พบเชื้อรานี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศแห้ง มีลมแรงจัด และมีแสงแดดตลอดวัน
Bouquet:
ใช้เรียกกลิ่นหอมซับซ้อนของไวน์หลังจากผ่านการบ่มในขวดมาระยะหนึ่งแล้ว ต่างจากอโรม่า ซึ่งใช้เรียกกลิ่นของไวน์ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่กระบวนการบ่ม โดยตามหลักแล้ว บูเก้ควรจะมีกลิ่นมากกว่าแค่กลิ่นของผลองุ่น
Brawny:
ใช้เรียกไวน์ที่มีรสชาติ และเนื้อหนักๆ full-bodied แต่ก็จำเป็นว่าจะต้องเป็นไวน์ที่มีคุณภาพดีเสมอไป
Briery:
ใช้เรียกไวน์ที่มีลักษณะเผ็ดร้อน แรงฉูดฉาด ชวนให้ผมนึกถึงไวน์ที่ทำจากองุ่นสายพันธุ์ California Zinfandel เป็นต้น
Brilliant:
คำว่า “Brilliant” มักถูกนำมาใช้อธิบายในแง่สีสันของไวน์ “brilliant wine” เป็นไวน์ที่มีสีสว่าง สดใส ไม่คลุมเครือ
Browning:
ไวน์แดงที่บ่มได้ทีแล้ว สีของมันจะเปลี่ยนจากสีแดงทับทิม/อมม่วง เป็นสีแดงทับทิมเข้ม, สีแดงทับทิมกลางๆ, สีแดงทับทิมขอบสีอำพัน, สีแดงทับทิมขอบสีน้ำตาล ไวน์ที่มีลักษณะ “browning” ใช้เรียกไวน์ที่บ่มเต็มที่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถพัฒนารสชาติต่อไปได้อีก
Carbonic maceration:
ใช้เรียกวิธีการทำไวน์ให้มีรสชาตินุ่ม ฟรุตตี้ จิบและเข้าใจง่าย โดยวิธีการทำ คือ จะนำผลองุ่นมาใส่ลงในถัง และเติมด้วยก๊าซคาร์บอนิก ระบบนี้จะถูกใช้ในขั้นตอนสุดท้ายของการทำไวน์ เพื่อเน้นให้ไวน์มีรสผลไม้ที่โดดเด่นแตกต่างจากโครงสร้าง และแทนนิน
Cedar:
ไวน์แดงจากโรนอาจมาพร้อมกับบูเก้หอมๆของต้นซีดาร์ไม่มากก็น้อย โดยกลิ่นของต้นซีดาร์จัดเป็นกลิ่นที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน
Chewy:
ไวน์ที่มีเนื้อเหนียว แน่น อันเนื่องมากจากมีปริมาณกลีเซอรีนสูง มักจะมีคุณลักษณะ “chewy” หรือพูดง่ายๆ คือ เมื่อจิบแล้วรู้สึกหนุบๆที่เนื้อไวน์ โดยไวน์ที่มีสารสกัดสูงจากผลองุ่นที่ได้จากปีเก็บเกี่ยวที่ดี มักมีคุณสมบัตินี้ อันเนื่องมาจาก มีปริมาณแอลกอฮอล์ และกลีเซอรีนที่สูง
Closed:
ใช้กล่าวถึงไวน์ที่ยังไม่แสดงอรรถรสที่แท้จริงออกมา ซึ่งอาจเป็นเพราะ ไวน์ดังกล่าวเป็นไวน์ที่ใหม่เกินไป โดยปรกติแล้ว ไวน์ใหม่มักถูกปิดอยู่ในขวดมาประมาณ 12-18 เดือน หลังบรรจุลงขวด และคงอยู่ในสภาพนั้นมานานหลายปีถึงมากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวินเทจ และวิธีการเก็บ
Complex:
ใช้พูดถึงไวน์ที่มีรสชาติซับซ้อน ทำให้ผู้จิบไม่รู้สึกเบื่อ เพราะทุกครั้งที่จิบ พวกเขาจะสัมผัสได้ถึงรสชาติที่แตกต่างกันไปอยู่เสมอ ไวน์ลักษณะนี้มักจะมีกลิ่นหอมที่นุ่มนวล และรสชาติที่ดึงดูดใจอยู่เสมอ
Concentrated:
ไวน์คุณภาพดี ไม่จะเป็นไวน์ที่มีคุณลักษณะไลท์บอดี้(Light-body), มีเดียมบอดี้(Medium-body) หรือ ฟูลบอดี้(Full-body) ควรจะต้องมีรสชาติผลไม้ที่เข้มข้น มีเสน่ห์ และน่าสนใจ อีกคำหนึ่งที่ใช้แทนคำว่า “concentrated” ได้ คือ คำว่า “Deep” ซึ่งหมายถึง รสชาติที่ลึก มีมิติ
Corked:
ใช้กล่าวถึงไวน์ที่ติดกลิ่นของจุกไม้ก๊อก ซึ่งอาจเป็นเพราะจุไม้ก๊อกที่ใช้มีตำหนิ หรือไม่สะอาด นอกจากนี้ ยังหมายถึง ไวน์ที่ไม่มีกลิ่นของผลไม้ หรือมีเพียงกลิ่นอับๆของจุกไม้ก๊อก ซึ่งเป็นกลิ่นที่ชวนให้นึกถึงกลิ่นกระดาษแข็งที่เปียกชื้น
Cuvée:
ผู้ผลิตหลายรายในเขตโรน นิยมผลิตไวน์ฉลากพิเศษ ที่มีความหรูหรา และเอกซ์คลูซิฟหรู หรืออาจจะเป็นไวน์ที่ทำจากองุ่นสายพันธุ์พิเศษเฉพาะ โดยพวกเขาจะแยกบรรจุขวดไวน์เหล่านี้ไว้ต่างหาก และเรียกไวน์ฉลากเหล่านี้ว่า “cuvees”
Decadent:
หากคุณเป็นคนรักไอศกรีมช็อกโกแลต คุณจะรู้ดีว่า การทานไอศกรีมวานิลลาซันเดย์ผสมฮอตฟัดจ์กับวิปปิ้งครีมนั้นให้ความรู้สึกอย่างไร เช่นเดียวกัน หากคุณเป็นคอไวน์ คุณก็จะรู้ว่า ไวน์ที่มาพร้อมโน้ตเต็มๆของผลไม้ เคล้ากลิ่นหอมซับซ้อนของบูเก้ และเนื้อสัมผัสที่หรูหราเต็มลิ้น จะให้ความรู้สึกที่ท่วมท้นอู้ฟู่แค่ไหน และนั่นคือความหมาย ขอคำว่า “decadent”
Deep:
คำนี้มีความหมายลักษณะเดียวกับคำว่า “concentrated” ซึ่งแสดงถึงว่า ไวน์นั้นๆมีรสชาติรุ่มรวย ผสมอณูสกัดเข้มข้นจากน้ำองุ่น และให้เนื้อสัมผัสที่เต็มกระพุ้งแก้ม
Delicate:
ใช้บรรยายไวน์ที่มีรสชาติเบา นุ่มนวล ถ้าเปรียบกับบุคลิก ก็คล้ายๆกับคนที่มีนิสัยเรียบร้อย เหนียมอาย ไม่กล้าแสดงออก โดยไวน์ขาวมักมีคุณลักษณะนี้มากกว่าไวน์แดง ไวน์แดงขากเขตโรนมีแนวโน้มที่จะมีรสชาติลักษณะนี้
Demi-muid:
หมายถึง ถังบ่มไวน์เบอร์กันดีขนาด 650 ลิตร ซึ่งมีขนาดเท่ากับถังบ่มไวน์ขนาดทั่วไปจำนวน 3 ถัง
Diffuse:
ใช้เรียกไวน์ที่มีกลิ่น และรสชาติกระจัดกระจาย ไร้ระเบียบโครงสร้าง
Double decanting:
ใช้เรียกการทำดีแคนติ้ง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะเป็นการรินไวน์ออกจากขวดลงสู่ดีแคนเตอร์ หลังจากนั้น ล้างขวดไวน์ด้วยน้ำเปล่าที่ไม่มีสารคลอรีนตกค้าง และเทไวน์จากดีแคนเตอร์กลับคืนลงขวดทันที
Dumb:
“dumb wine” หรือ “closed wine” มีความหมายเดียวกัน ต่างตรงที่คำว่า “dumb” สื่อความหมายที่แรงกว่า “closed wines” อาจต้องใช้เวลาบ่มนานเพิ่มอีก ไวน์ถึงจะเผยรสชาติที่เข้มข้นน่าค้นหามากขึ้น แต่ “Dumb wines” คงเหมือนกับบัวใต้น้ำ ที่ไม่มีวันที่จะพัฒนารสชาติให้ดีขึ้นไปกว่าเดิมอีกแล้ว
Earthy:
อาจใช้ได้ทั้งในแง่ลบ และแง่บวก แต่ผมมักจะใช้คำนี้ในแง่บวก เพื่อสื่อถึงอโรม่าที่หอมสดชื่น เข้มข้น สัมผัสได้ถึงกลิ่นดินที่สะอาด กลิ่น “Earthy” มักมีความเข้มแรงกว่ากลิ่นไม้ หรือกลิ่นเห็ดทรัฟเฟิล
Elegant:
ถึงแม้ไวน์ขาวส่วนใหญ่จะให้ความเพริดพริ้ง อลังการทั้งกลิ่นและรสชาติ มากกว่าไวน์แดง แต่ไวน์แดงที่มีรสบาลานซ์ที่ดี ก็สามารถให้ความรู้สึกเดียวกันนี้เช่นกัน
Extract:
หมายถึง ทุกๆส่วนประกอบที่อยู่ในไวน์ ยกเว้นน้ำ, น้ำตาล, แอลกอฮอล์ และแอซิดิตี้
Exuberant:
ใช้บรรยายไวน์ที่เอ่อล้นไปด้วยโน้ตของผลไม้ มีชีวิตชีวา เฉกเช่นเดียวกับคนที่มีนิสัยชอบแสดงออก แต่แอบไฮเปอร์เล็กน้อย
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ โปรดติดตามตอนต่อไป!