Moët Hennessy เปิดตัวไวน์ฉลากใหม่... จากทิเบต
Wine n' Business
Moët Hennessy เปิดตัวไวน์ฉลากใหม่… จากทิเบต

Moët Hennessy บริษัทผู้ผลิตไวน์ และสปิริตแบรนด์หรูอันดับ 1 ของโลก และยังเป็นเจ้าของ 2 แบรนด์ดัง อย่าง Moët & Chandon และ Veuve Clicquot ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการไวน์อีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวไวน์หรูระดับไฮเอนฉลากใหม่เมื่อเร็วนี้ โดยความพิเศษของไวน์ฉลากนี้ คือ มันไม่ได้ถูกผลิตขึ้นในแหล่งผลิตชื่อดังในประเทศฝรั่งเศส อย่างบอร์โด แต่ถูกผลิตขึ้นในแถบประเทศทิเบต! นี่คือไวน์แดง Cabernet Sauvignon ที่ถูกตั้งชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นเก๋ๆ ว่า “Ao Yun” ซึ่งในภาษาไทยมันแปลว่า เมฆศักดิ์สิทธิ์…

Photo: http://growlermag.com

Photo: http://growlermag.com

โดยทางบริษัทได้ว่าจ้างให้ Tony Jordan ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญด้านการทำไวน์ชาวออสเตรเลีย ออกเดินทางค้นหาสถานที่ใหม่ๆที่มีคุณสมบัติดีพร้อม และเหมาะสมสำหรับการผลิตไวน์ฉลากใหม่ จนเขาได้มาค้นพบ และตัดสินใจเลือกพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดยูนนาน ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนของประเทศทิเบตเพียง 35 กิโลเมตร มาเป็นสถานที่ตั้งสำหรับการผลิต

พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะลกว่า 2 กิโลเมตร อยู่ใกล้กับต้นกำเนิดของแม่น้ำโขง ซึ่งทางบริษัทได้เลือกสถานที่ใน 4 หมู่บ้าน ซึ่งในจำนวนนี้ ได้ใช้พื้นที่ของ 2 หมู่บ้านซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเป็นสถานที่ปลูกองุ่น

Jean-Guillaume Prats ประธานฝ่าย Moët Hennessy Estates & Wine ได้ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า “ในการปลูกองุ่น ปัจจัยสำคัญไม่ได้มีแค่เรื่องของดิน แต่ยังต้องพิจารณาถึงเรื่องแสงแดด รวมถึงวงจรของสภาพภูมิอากาศอีกด้วย”

เงาของภูเขาที่ตกทอดลงมา ยังทำให้พื้นที่ดังกล่าวได้รับแสงแดดเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน นั่นคือ ตั้งแต่ 11 โมงเช้า จนถึง บ่าย 3 โมงเย็น และช่วยให้รอบการปลูกองุ่นมีระยะเวลานานขึ้นอีกด้วย ในขณะที่สถานที่ตั้งบนพื้นที่สูง ยังทำให้สภาพภูมิอากาศโดยรวมมีลักษณะแห้งและเย็น เหมาะกับการปลูกองุ่น ซึ่งคุณ Prats เปรียบเทียบการปลูกองุ่นในลักษณะอากาศแบบนี้ว่า เหมือนกับการปรุงอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้อาหารที่ได้มีรสชาติที่อร่อยปราณีต

ไวน์ฉลากใหม่นี้ ยังได้กระแสการตอบรับที่ค่อนข้างดีจากนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ โดยพวกเขากล่าวว่า มันจัดเป็นไวน์แดงที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมที่สุดของจีนในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาของมันจึงสูงตามไปด้วย โดยวางจำหน่ายอยู่ที่ขวดละ 255 เหรียญ ทำให้นักวิจารณ์บางคนออกมาติว่า เมื่อเทียบรสชาติกับราคาแล้ว ยังถือว่าไม่คุ้มค่าเท่าไรนัก แต่จะอย่างไรก็ตาม ไวน์ฉลากนี้ก็ทำให้ประเทศจีนมีรายชื่อติดอยู่บนทำเนียบประเทศผู้ผลิตไวน์ชั้นดีของโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศจีนยังจัดเป็นผู้ผลิตไวน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก อีกด้วย