เกาะกระแสไวน์ออร์แกนิค
Wine n' Business
เกาะกระแสไวน์ออร์แกนิค

เรียบเรียงจากบทความโดย Andrew Jefford จากเว็บไซต์ Decanter – วันที่ 11 มกราคม 2559

จากสถิติที่บันทึกโดยสำนักงานสถิติยุโรป หรือ Eurostat เปิดเผยว่า ตลอดช่วงปี 2002 ถึงปี 2011 ไร่องุ่นออร์แกนิคมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยในประเทศสเปน มีไร่องุ่นออร์แกนิคเพิ่มขึ้นจาก 16,000 เฮกตาร์ เป็นเกือบ 80,000 เฮกตาร์ ในขณะที่ฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นจาก 15,000 เฮกตาร์ เป็น 61,000 เฮกตาร์ ส่วนประเทศอิตาลีเพิ่มขึ้นจาก 37,000 เป็น 53,000 เฮกตาร์ (ประเทศเหล่านี้ถือเป็นประเทศผู้ผลิตไวน์ที่สำคัญของโลก โดยไวน์ออร์แกนิคที่ประเทศเหล่านี้ผลิต คิดเป็นร้อยละ 73 ของการผลิตไวน์ออร์แกนิคทั้งหมดจากทั่วโลก) แต่นับตั้งแต่ปี 2011 เรื่อยมา การขยายตัวของพื้นที่ไร่องุ่นออร์แกนิคดูเหมือนจะมีการเติบโตที่ช้าลง โดยในบางพื้นที่ ผู้ปลูกองุ่นออร์แกนิคมีจำนวนน้อยลงด้วยซ้ำไป

ถึงกระนั้น ไวน์ออร์แกนิคก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภค โดยจากการสำรวจเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการทำสำรวจให้กับงานจัดแสดงไวน์ออร์แกนิค Millésime Bio โดยเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคไวน์ในประเทศฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมัน และสวีเดน พบว่า มีจำนวนผู้บริโภคไวน์ออร์แกนิคมากถึงร้อยละ 35 ของผู้บริโภคไวน์แบบทั่วไปในยุโรป

pinot noir organic wines

เหตุผลหลักที่ชาวฝรั่งเศส และสวีเดนเลือกบริโภคไวน์ออร์แกนิค เป็นเพราะว่า ไวน์ออร์แกนิคมีวิธีการผลิตที่ ‘เป็นมิตรกว่าต่อสิ่งแวดล้อม’ (โดยกว่าร้อยละ 70 ของผู้บริโภคไวน์ออร์แกนิคในแต่ละประเทศส่วนใหญ่ก็ยังมีความเชื่อเช่นนี้) อย่างไรก็ตาม ชาวอังกฤษ และชาวเยอรมันกลับเลือกไวน์ออร์แกนิคเพราะว่า ‘ไวน์ออร์แกนิคมีรสชาติที่ดีกว่าไวน์ทั่วไป’ โดยผู้บริโภคไวน์ออร์แกนิคกว่าร้อยละ 50 ในประเทศเยอรมันให้เหตุผลเช่นนี้

มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะอธิบายว่าไวน์ออร์แกนิคมีคุณลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เมื่อเทียบกับวิธีการปลูกองุ่นแบบทั่วไปในไร่องุ่นของยุโรป ซึ่งมีการใช้ยาฆ่าวัชพืช และยาฆ่าแมลง เป็นต้น แต่หากกล่าวในแง่ของรสชาติแล้ว ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่า ไวน์ออร์แกนิคจะมีรสชาติที่ดีกว่าไวน์ทั่วไปหรือไม่ เพราะหากวิเคราะห์จากผลการประกวดไวน์บนเวที Decanter World Wine Awards ปี 2015 ที่ผ่านมา มันแสดงให้เห็นว่า ไวน์ออร์แกนิคมีเปอร์เซ็นต์การได้รับเหรียญรางวัลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยของการได้รับรางวัลของไวน์ทั้งหมดที่เข้าร่วมประกวด (คิดเป็นร้อยละ 64.9 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 70.02) ในขณะที่ไวน์ไบโอไดนามิคมีเปอร์เซ็นการได้รับรางวัลอยู่ที่ระดับเฉลี่ย (ร้อยละ 70) (ในการจัดกลุ่มว่าไวน์ฉลากใดเป็นไวน์ออร์แกนิค หรือไวน์ไบโอไดนามิค ขึ้นอยู่ตามที่ผู้ผลิตระบุบนฉลาก)

ผมแอบหวังว่า วันหนึ่งไวน์ออร์แกนิคจะกลายมาเป็นมาตรฐานของการผลิตไวน์ทั่วไป และผมก็ยังรู้สึกประทับใจในความทุ่มเทของคนที่ทำไร่องุ่นแบบออร์แกนิคเหล่านั้นที่ผมมีโอกาสได้พบปะ ยกตัวอย่าง เมื่อเร็วๆนี้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ Alain Voorons และ Wiebke Seubert จากโรงไวน์ Château Wiala ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชุมชน Fitou โดยสาระที่เราพูดคุยกัน มีดังนี้

Alain Voorons เป็นอดีตนักสร้างภาพยนตร์ ส่วน Wiebke Seubert เคยทำอาชีพเป็นล่ามมาก่อน ทั้งสองพบกันตอนที่ได้ไปเข้าคอร์สเรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงองุ่น ต่อมาพวกเขาได้ซื้อที่ดินร่วมกันในปี 2001 จากนั้นพวกเขาได้ลงความเห็นว่า ผืนดินที่พวกเขาซื้อไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอสำหรับการปลูกองุ่นให้ได้คุณภาพ พวกเขาจึงตัดสินใจลดขนาดแปลงทีดินจาก 21 เฮกตาร์ เหลือ 8 เฮกตาร์ เพื่อที่จะได้ง่ายต่อการดูแล และฟื้นฟูให้ผืนดินกลับมามีสภาพที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะวิเคราะห์พืช และดิน ตลอดจนวิธีการบำรุงรักษาดูแล นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆเพื่อศึกษาเรียนรู้ และเก็บข้อมูลจากผู้ผลิตต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการผลิตไวน์ออร์แกนิคที่ถูกต้อง โดยคุณ Alain กล่าวว่า “พวกเราลองมาแล้วหลายหลายวิธี จนเกือบจะเป็นปรมาจารย์ด้านไร่องุ่นไปแล้วก็ว่าได้”

หลังจากได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย พวกเขาเริ่มรู้จักที่จะนำหางนมมาใช้เป็นวิธีแก้ปัญหาโรคราแป้ง ซึ่งมันก็ได้ผลดี นอกจากนี้ พวกเขายังได้นำนวัตกรรมการรีฟายนิ่งแบบใหม่มาใช้ โดยการใช้น้ำมันสกัดจากเปลือกส้มหวาน ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยต่อต้านเชื้อรา และยังสามารทำหน้าที่เป็นยาฆ่าแมลงไปในตัวได้อีกด้วย
ทั้งคู่ยังเลือกใช้วิธีปลูกพืชคลุมดิน แต่วิธีนี้ก็ไม่สามารถทำได้ตลอด เนื่องจากไร่องุ่น Languedoc มีสภาพดินที่เป็นหินจึงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ดี ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะการแย่งน้ำเกิดขึ้นระหว่างพืชคลุมดิน และเถาองุ่นที่ปลูก

Alain ยังเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิค BRF (bois raméal fragmenté) ซึ่งเป็นเทคนิคการปรับโครงสร้างดินให้มีความนุ่ม ชุ่มชื้นเหมือนดินในป่า และมีคุณสมบัติในการเก็บกักน้ำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องยากที่จะนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้บนพื้นที่ใหญ่ๆอย่างไร่องุ่น พวกเขายังเลือกที่จะใช้สารทองแดงในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการปรับสภาพดิน เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Glass_of_champagne

สิ่งที่ท้าทายทั้งคู่มากที่สุด คือ การต่อสู้กับตัวมอดที่คนในท้องถิ่นเรียกกันว่า Eudémis และ Cochylis  ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชตัวสำคัญของผลองุ่น โดยพวกเขากำจัดด้วยวิธีฉีดพ่นสารจุลินทรีย์จำพวกหนึ่งที่เรียกว่า Bacillus thuringiensis ซึ่งจะต้องใช้มือพ่นเพื่อให้สารจุลินทรีย์นั้นซึมลงไปในพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ โดย Wiebke กล่าวว่า “มันคือโรคระบาด” และ “มันเป็นงานที่พวกเราต้องทำอย่างหยุดไม่ได้ ไม่อย่างนั้นมันอาจทำให้เราสูญเสียผลผลิตทั้งหมดได้”

ในส่วนของเครื่องหมายรับรองหละ? ในช่วงแรกๆ มันดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ยังไม่เป็นระบบระเบียบมากนัก ประกอบกับที่ดินของพวกเขาในขณะนั้นก็ยังไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการให้ใช้ทำเป็นไร่องุ่นได้ แต่ต่อมาหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดบางประการ ทำให้ไร่องุ่นของพวกเขาในปัจจุบัน กำลังจะได้รับการรับรองจาก Ecocert ซึ่งเป็นองค์กรรับรองผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของประเทศฝรั่งเศส

ทั้งคู่ยังกล่าวว่า ความมานะพยายามที่พวกเขาได้ทุ่มเทลงไปไม่สูญเปล่า และได้นำมาซึ่งความเจริญงอกงามให้กับไร่องุ่นของพวกเขา ส่งผลให้ดิน ผลผลิต และไวน์ของพวกเขามีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยความสำเร็จเหล่านี้สามารถยืนยันได้จากการที่ไวน์ของพวกเขาได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันไวน์ Concours Générale ซึ่งจัดขึ้นในกรุงปารีส และรางวัลเหรียญเงินจากเวทีประกวดไวน์ระดับโลก อย่าง Decanter World Wine Awards

อย่างไรก็ตาม ต่อคำถามที่ว่า วิธีการผลิตไวน์ออร์แกนิคจะมีวันกลายมาเป็นมาตรฐานในการผลิตไวน์ของโลกหรือไม่? Alain Voorons ตอบว่า “นั่นเป็นเรื่องยาก” และกล่าวต่อ “หนึ่งในหลักการในการผลิตไวน์ออร์แกนิค คือ ต้องยึดหลักความหลากหลายทางด้านชีวภาพ ไม่ใช่หลักการเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว(monoculture) ซึ่งในการทำการเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการจำนวนมากในระดับอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้หลักการแบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว โดยการมุ่งให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศจะเป็นไปได้สำหรับการทำการเกษตรขนาดเล็กเท่านั้น”

white grapes wine organic wine

ถามว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การทำไร่องุ่นออร์แกนิคของพวกเขาได้นำมาซึ่งผลกำไรที่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงไปหรือไม่? Wiebke ยอมรับว่า “พวกเรายังคงต้องควักเนื้อตัวเองอยู่” เธอหยุดคิดสักพักก่อนพูดขึ้นต่อ “ลำพังการผลิตไวน์ให้ได้กำไรมันก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว การทำไวน์ออร์แกนิคให้ได้กำไรจึงเป็นเรื่องที่ยากกว่า ทุกวันนี้เราก็ยังไม่ได้กำรี้กำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยสักเท่าไร แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ เพราะผู้คนหันมาดื่มน้อยลง แต่เน้นที่คุณภาพมากกว่า”

แท้ที่จริงแล้ว การทำไวน์ออร์แกนิคมันมีประโยชน์ในแง่อื่นมากกว่า “การทำธุรกิจไวน์ออร์แกนิคมีความหมายต่อฉันมาก” Wiebke กล่าวต่อ “วิถีการเกษตรในรูปแบบนี้ ทำให้ฉันรู้ปลอดภัยเวลาทำการในไร่องุ่น โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพใดๆ ถ้าคุณได้ใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดกับต้นองุ่นมากขึ้น คุณก็จะรู้จักพวกเขามากขึ้น คุณจะรู้สึกเหมือนได้มีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่สนุกสนาน และมีความสุข และนี่หละคือสาระสำคัญที่สุดของการได้ทำการเกษตรในวิถีออร์แกนิค”