ทำน้ำแข็งยังไงให้ใส?
Lifestyle
ทำน้ำแข็งยังไงให้ใส?

อะไรเอ่ย? แช่อยู่ในช่องฟรีซในตู้เย็น มีลักษณะเป็นพลาสติกไม่แข็งเกินไป บิดงอได้ มีหลุมใส่น้ำได้ ขนาดทั่วไปมีประมาณ 12 หลุม เวลาจะใช้ ต้องเคาะบ้าง บิดบ้าง เพื่อเอาก้อนน้ำแข็งออกมา…

มันคือถาดทำน้ำแข็งนั่นเอง แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมก้อนน้ำแข็งที่บาร์เทนเดอร์ตามร้านอาหารใช้ ถึงดูเนียน ใส ทรงสวย ผิดกับที่เราทำเองที่บ้าน?

นั่นก็เป็นเพราะบาร์เทนเดอร์ส่วนใหญ่ เขาใช้น้ำแข็งที่ซื้อจากโรงงานผลิตโดยตรง แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า มันจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะทำน้ำแข็งเองให้ออกมาดูสวย ดูใส แบบนั้น มันแค่ต้องอาศัยเทคนิคสักหน่อย ส่วนเรื่องอุปกรณ์ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญขนาดนั้นครับ

clear ice cubes

เหตุผลที่ทำให้น้ำแข็งที่เราทำเองที่บ้านออกมาดูขุ่นๆ ก็เป็นเพราะว่า น้ำที่เรานำมาใช้มีอากาศเยอะเกินไป มาดูกันว่า เรามีวิธีง่ายๆอย่างไรบ้างเพื่อที่จะลดปริมาณอากาศในน้ำ ก่อนเทลงในถาดทำน้ำแข็ง

วิธีแรก คือ การต้มน้ำให้เดือด 2 รอบ กล่าวคือ หลังจากต้มน้ำรอบแรกเสร็จแล้ว ทิ้งไว้ให้เย็นสักพัก แล้วนำมาต้มใหม่อีกครั้ง วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณอากาศ และสารแปลกปลอมต่างๆในน้ำให้น้อยลงได้  ในทางปฏิบัติแล้ว วิธีนี้ก็ถือว่าใช้ได้ ซึ่งจะช่วยให้น้ำแข็งที่ออกมามีความใสขึ้น แต่จะไม่กระจ่างใสจนเหมือนแก้วคริสตัลเลยเสียทีเดียว

old fashioned and ice cubes

อีกวิธีหนึ่งซึ่งน่าจะได้ผลมากกว่า คือ วางถาดทำน้ำแข็งลงในกระติกที่มีฉนวนกันความร้อน แล้วแช่กระติกใส่ในช่องฟรีซอีกที โดยเปิดฝากระติกทิ้งไว้ วิธีนี้จะใช้เวลานานขึ้นในการทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง โดยระยะเวลาที่นานขึ้นนี้ จะเป็นการช่วยให้อากาศถ่ายเทออกจากน้ำได้มากขึ้น นั่นหมายความว่า ยิ่งกระบวนการทำน้ำให้กลายเป็นน้ำแข็งใช้เวลานานเท่าไร น้ำแข็งที่ได้ก็จะยิ่งมีความใสกระจ่างมากเท่านั้น และเพื่อความชัวร์เพื่อให้น้ำแข็งออกมาใสเลิศที่สุด คุณอาจใช้วิธีต้มน้ำ 2 รอบ ก่อนเริ่มทำน้ำแข็งด้วยวิธีนี้ก็ได้ อีกเทคนิคที่อยากเพิ่มเติม คือ ปรับอุณหภูมิของช่องแช่ให้สูงขึ้น เพื่อยืดระยะเวลาการทำน้ำแข็งให้นานขึ้น

วิธีที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยให้น้ำแข็งใสขึ้น แต่มันก็ไม่ได้แปลว่า คุณจะประสบความสำเร็จทุกครั้งไป

วิธีที่ดีที่สุด คือ ทำน้ำแข็งแบบก้อนเดียวไปเลยให้มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ช่องแช่ในตู้เย็นของคุณจะพออำนวย น้ำแข็งยิ่งใหญ่ ยิ่งดี เพราะการทำน้ำแข็งก้อนใหญ่จะใช้เวลานานกว่าการทำน้ำแข็งก้อนเล็กหลายๆก้อน มวลน้ำขนาดใหญ่จะช่วยให้น้ำไม่เก็บอากาศ เราสามารถดูตัวอย่างได้จากการแกะสลักน้ำแข็งตามงานต่างๆ นักแกะสลักน้ำแข็งจะใช้วิธีทำน้ำแข็งก้อนใหญ่มหึมาเพียงก้อนเดียว ก่อนที่พวกเขาจะนำมันมาสลักเป็นรูปทรงต่างๆที่งดงามตามใจชอบ แถมน้ำแข็งที่ได้ก็ยังมีลักษณะใสปิ้งสวยงามน่ามองอีกด้วย

อีกหนึ่งข้อดีของการทำน้ำแข็งก้อนใหญ่ คือ น้ำแข็งก่อนใหญ่จะละลายช้ากว่าน้ำแข็งก้อนเล็ก แต่สิ่งที่ต้องเตือนให้ระวัง คือ หลังจากที่เราได้น้ำแข็งก้อนใหญ่แล้ว และต้องการทุบให้น้ำแข็งมีขนาดเล็กลง การใช้อุปกรณ์ต่างๆในการทุบอาจเป็นเป็นอันตรายได้ เพราะน้ำแข็งขนาดใหญ่เหล่านี้ จะมีความลื่นมากเป็นพิเศษ

ice cubes

แล้วทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีบางส่วนในการทำน้ำแข็งให้ออกมาดูใส และดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริง ผมเองก็ไม่ได้แคร์เรื่องนี้มากขนาดนั้น ตราบใดที่ค็อกเทลที่ทำออกมา มีรสชาติเลิศ และเย็นพอกระชุ่มกระชวยลิ้น ก็ถือเป็นใช้ได้แล้วหละครับ

[เรียบเรียงจากบทความของ Alexander Eeckhout]