ภาพรวมตลาดไวน์ในปี 2015
Wine n' Business
ภาพรวมตลาดไวน์ในปี 2015

ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของวงการไวน์ในปีนี้

อย่างที่ทราบกันดี องุ่นปีนี้ถูกเก็บเกี่ยวเร็วขึ้นกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา และยังส่งผลให้ระดับแอลกอฮอล์ในไวน์เพิ่มสูงขึ้น 1 ถึง 2 จุด ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

หนึ่งในปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอาจส่งผลกระทบต่อเถาองุ่นป่า vinifera  ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดขององุ่นหลากหลายพันธุ์ในปัจจุบันที่ถูกนำมาใช้ผลิตไวน์รสชาติล้ำเลิศส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ นอกจากนี้ ยังเคยมีนักทำไวน์ชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ได้นำองุ่นสายพันธุ์ labrusca จากอเมริกามาปลูกในฝรั่งเศส เพราะมันเป็นสายพันธุ์เถาองุ่นที่ทนต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็นได้ดี แต่มันกลับนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อรา “phylloxera” จนเกือบทำลายอุตสาหกรรมไวน์ในฝรั่งเศสในเวลานั้นเลยทีเดียว

wine white grapes

การพัฒนาองุ่นสายพันธุ์ใหม่ๆให้ทนต่ออากาศร้อนมากขึ้น อาจไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากการพัฒนาองุ่นสายพันธุ์ใหม่ๆโดยทั่วไปแล้วมักใช้เวลานาน

ทางออกที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุด จึงมี 2 ตัวเลือก คือ การย้ายไร่องุ่นไปอยู่บนพื้นที่ๆสูงขึ้น หรือย้ายให้เข้าใกล้เขตขั้วโลกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจเป็นการทำลายแหล่งผลิตองุ่นที่มีชื่อเสียงต่างๆทั่วโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตผลิตไวน์ในยุโรปที่มีชื่อเสียงในการปลูกองุ่นมาอย่างยาวนาน และมีการปลูกสายพันธุ์องุ่นเฉพาะที่ไร่องุ่นอื่นๆไม่สามารถปลูกได้

ผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปได้ทำวิจัยเรื่อง ”การวางแผนย้ายเขตผลิตไวน์เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”  ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2013 โดยระบุว่า การย้ายไร่องุ่นไปอยู่บนพื้นที่ๆสูงขึ้น สามารถทำได้กับแหล่งผลิตในเขตคิแอนติ และโพรวองซ์ ยกเว้นเขตบอร์โด ในขณะที่ผู้ผลิตแชมเปญชื่อดังอย่าง Taittinger ได้หันมาเริ่มทำไร่องุ่น และตั้งโรงไวน์ในประเทศอังกฤษ ทั้งๆที่หลายคนเชื่อว่าพื้นที่นั้นอาจมีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นเกินไปที่จะปลูกเถาองุ่นสายพันธุ์ vinifera ได้

vineyard portugal hills

เมื่อเร็วนี้ ไวน์จากโรงไวน์ McWilliams ของประเทศออสเตรเลียยังได้เข้ามาบุกตลาดไวน์ในกรุงเทพ มันเป็นไวน์ที่ผลิตจากองุ่นที่ปลูกบนพื้นที่สูงในเขต Canberra และ Great Divide Range โดยไร่องุ่นในเขต Great Divide Range ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 611 เมตร (หรือกว่า 2,000 ฟุต) เน้นผลิตสายพันธุ์องุ่น Tumbarumba Chardonnay ซึ่งรสชาติที่ได้มีความอร่อย นี่อาจเป็นไปได้ว่า การย้ายไร่องุ่นไปอยู่บนพื้นสูงๆ อาจเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผมคาดว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกจะยังเป็นประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมไวน์อีกครั้งภายในปลายปีหน้า

ประเด็นอื่นๆที่น่าจับตามอง

ราคาน้ำมันที่ถูกลงจะช่วยให้อุตสาหกรรมไวน์มีค่าใช้จ่ายในการทำไร่องุ่นที่ลดลงตามไปด้วย ซึ่งรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการขนส่งไวน์ไปยังสถานที่รับซื้อต่างๆ ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆก็มีแนวโน้มดีขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น สถิติการจ้างงานในอเมริกา, ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐที่แข็งขึ้น รวมไปถึงการขยับตัวของอัตราดอกเบี้ย โดยทั้ง 4 ปัจจัยเหล่านี้ น่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมไวน์มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักเลยทีเดียว

red wine glass at the restaurant

การฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นของสภาพเศรษฐกิจในประเทศอเมริกา ยังพบว่า มีปริมาณการบริโภคไวน์ที่สูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2014 โดยคาดว่ายอดขายในหมวดไวน์ในปี 2015 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น 14%-18% คิดเป็นมูลค่าต่อขวดอยู่ที่อย่างน้อย 20 ดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่ไวน์ราคาขวดละ 9 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือถูกกว่านั้นมียอดขายลดลง ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญสืบเนื่องมาจาก ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อไวน์ที่มีราคาสูงขึ้นนั่นเอง

Paul Mabray หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัท Vintank ให้ความเห็นว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ตลาดการค้าไวน์มีการแข่งขันกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยประเทศที่มีวัฒนธรรมการผลิตไวน์มาแต่ดั้งเดิม อย่างเช่น ฝรั่งเศส อาจมีปริมาณการบริโภคไวน์น้อยลง ในขณะที่กระแสการจิบไวน์เริ่ม “เป็นที่นิยมอย่างมาก” ในเขตทวีปเอเชีย และอเมริกาเหนือ

vineyards france

องค์กรไวน์ระดับโลกอย่าง International Organization of Vine and Wine (OIV) ได้ออกมาคาดการณ์ว่า ประเทศอิตาลีจะมีปริมาณการผลิตไวน์ที่ได้จากฤดูเก็บเกี่ยวในปี 2015 อยู่ที่ 48.9 ล้านเฮกโตลิตร แซงหน้าประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 47.4 ล้านเฮกโตลิตร ดังนั้น หากเป็นไปตามที่คาดไว้ จะส่งผลให้อิตาลีกลับมาคว้าแชมป์ผู้ผลิตไวน์อันดับหนึ่งของโลก หลังจากที่ฤดูเก็บเกี่ยวในปีที่แล้วได้ผลไม่ค่อยดีนัก ปริมาณการผลิตไวน์จึงลดลง และส่งผลให้อิตาลีเป็นผู้ผลิตไวน์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก

[เรียบเรียงจากบทความของ David Swartzentruber]