ปฎิเสธไม่ได้ว่า ประเทศอเมริกา(และอาจจะอีกหลายประเทศ) กำลังอยู่ในยุคเฟื่องฟูของคราฟท์เบียร์…
เราได้มีโอกาสดื่มเบียร์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์ในแบบของตัวเอง ผู้ผลิตเบียร์ขนาดเล็กตามท้องถิ่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ไลท์เบียร์มีความนิยมน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ในปัจจุบัน มีจำนวนอยู่ที่ราวๆ 3,000 แห่งทั่วโลก ทำให้การเข้าถึงคราฟท์เบียร์ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอีกต่อไป การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตคราฟท์เบียร์ทำให้เมนูคราฟท์เบียร์มีความหลากหลาย และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แม้แต่เมนูคราฟท์เบียร์ที่พบทั่วไปยังมีคำแปลกๆโผล่มา เช่น “nitro,” “IBU” และ “flux capacitor” ทำเอานักดื่มธรรมดาๆที่เพิ่งเริ่มอยากจะหันมาดื่มคราฟท์เบียร์อย่างเราๆ งงว่า มันหมายถึงอะไร? มันคืออะไร? แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจ ถอดใจ และปิดโอกาสตัวเองไม่ให้ได้ลิ้มลองเบียร์ใหม่ๆเหล่านั้น
เพื่อช่วยคุณตัดผ่านคำศัพท์ยากๆเหล่านั้น เราจึงได้พูดคุยกับคุณ Greg Engert ผู้อำนวยการด้านเบียร์บริษัท Neighborhood Restaurant Group ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย และวอชิงตัน ดี.ซี. เขายังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล James Beard Award เมื่อไม่นานที่ผ่านมานี้
คุณ Engert ยอมรับว่า โลกของคราฟท์เบียร์มีความ “น่าทึ่ง” แต่มันก็ยังแฝงไปด้วย “ความโอหังอยู่บ้าง” ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเลย คุณจึงควรลืมภาพจำที่โอเวอร์ ซับซ้อนเกี่ยวกับประสบการณ์ในการเข้าบาร์คราฟท์เบียร์ที่คุณเคยพบเจอมา เพียงทำตามขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้
ขั้นตอน 1: พูดคุยกับบาร์เทนเดอร์หรือพนักงานเสิร์ฟ
สำหรับบาร์คราฟท์เบียร์ที่แท้จริงแล้ว พวกเขาจะมีการจัดฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้สามารถให้คำแนะนำกับลูกค้าได้เกี่ยวกับคราฟท์เบียร์ต่างๆที่มีอยู่บนเมนู แน่นอนว่า พนักงานทุกคนอาจไม่รู้ในทุกๆรายละเอียดเกี่ยวกับคราฟท์เบียร์ทุกฉลาก แต่อย่างน้อย พวกเขาก็จะสามารถให้คำแนะนำได้ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสไตล์ของเบียร์นั้นๆ ส่วนประกอบโดยทั่วไป ตลอดจนสามารถพอแนะนำได้ว่า เบียร์สไตล์ไหนน่าจะเหมาะกับนักดื่มเช่นคุณ ซึ่งคุณ Engert แนะนำให้คุณเพียงจำไว้ว่า “คุณกำลังไปหามืออาชีพ” ไม่ใช่นักทายใจ
สิ่งที่คุณต้องรู้เป็นอย่างน้อย คือ คุณควรต้องรู้ว่า คุณชอบดื่มเบียร์ที่มีรสชาติแบบไหน พยายามนึกชื่อยี่ห้อเบียร์ที่คุณเคยดื่มแล้วชอบให้ออก ถึงแม้จะเป็นความทรงจำที่เลือนรางมากๆก็ตาม ยิ่งจำได้มากยิ่งดี เพราะจะช่วยให้พนักงานที่ร้านสามารถให้คำแนะนำที่แม่นยำมากขึ้น ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
เช่น คุณเคยทานเบียร์ Sierra Nevada Pale Ale แต่คุณไม่ชอบเบียร์รสชาติแบบนั้นเลย คุณกลับหลงรัก Blue Moon มากกว่า นั่นแสดงให้เห็นว่า คุณมีแนวโน้มที่จะชอบเบียร์ที่มีรสชาติของสมุนไพร ฟรุตตี้ มากกว่าเบียร์ที่รสขม และอิ่มไปด้วยรสของดอกฮ็อพ ด้วยข้อมูลลักษณะนี้ บาร์เทนเดอร์จะเลือกเบียร์ที่มีรสชาติหวาน ฟรุตตี้นำ อย่างเช่น เบียร์ German Hefeweizen เป็นต้น ให้กับคุณ
บาร์เบียร์หลายแห่ง เลือกที่จะทำให้การเลือกสั่งเบียร์เป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับลูกค้า โดยพวกเขาจะจัดหมวดเบียร์ตามรสชาติ มากกว่าที่จะแบ่งตามสไตล์ หรือแหล่งผลิต
เรื่องรสชาติ: หากยึดตามหลักของคุณ Engert แล้ว เขาแบ่งเบียร์ออกเป็น 7 หมวดรสชาติกว้างๆ ได้แก่ Crisp, Malt, Hop, Roast, Smoke, Fruit & Spice และ Tart & Funky แต่ละหมวดก็ยังจะมีคุณลักษณะที่แตกย่อยลงไปอีก แต่ในกรณีที่เบียร์มีคุณลักษณะที่เหลื่อมกันระหว่าง 2 หมวดรสชาติ เช่น เบียร์หมวด Crisp บางตัวอาจให้ปลายสัมผัสที่มีรสขม ผสมรสของดอกฮ็อพ คุณ Engert เลือกที่จะใช้แบบทดสอบ “รสชาติที่ไม่พึงปรารถนา” ซึ่งเป็นการค้นหารสชาติที่นักดื่มเบียร์คนนั้นๆไม่ชอบ เมื่อรู้จุดนี้ได้ ก็จะช่วยให้สามารถจัดหมวดรสชาติที่ถูกต้องให้กับเบียร์ฉลากนั้น และให้คำแนะนำกับลูกค้าได้อย่างถูกต้อง
บาร์เบียร์หลายแห่งทั่วอเมริกาได้นำหลักการแบ่งหมวดรสชาติเบียร์ของคุณ Engert มาใช้ ซึ่งยังมีประโยชน์สำหรับนัก(หัด)ดื่มคราฟท์เบียร์ ให้พวกเขาสามารถเข้าใจรสชาติเบียร์ที่ตนเองชื่นชอบได้ง่ายขึ้น
เรื่องสไตล์: หากคุณรู้แล้วว่าเบียร์สไตล์ไหนที่คุณชื่นชอบ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่อย่าลืมว่ามันขึ้นอยู่กับการตัดสินของแต่ละบุคคล คุณ Engert กล่าวว่า “สำหรับบางคน เบียร์ฉลากหนึ่งอาจถูกตัดสินว่าเป็นเบียร์สไตล์ IPA แต่สำหรับอีกคน อาจมองว่ามันคือ American pale ale” ทางที่ดี ให้อ่านส่วนประกอบบนฉลาก (หรือสอบถามจากบาร์เทนเดอร์) เพื่อที่จะได้รู้ว่าเบียร์ฉลากนั้นน่าจะมีรสชาติเป็นอย่างไร
คุณ Engert ยังแนะนำให้คุณพยายามหลีกเลี่ยงสั่งเบียร์ โดยบอกชื่อของประเทศที่ผลิต เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร “เบียร์ไม่เหมือนกับไวน์ เพราะรสชาติของไวน์สามารถเชื่อมโยงเข้ากับแหล่งปลูกองุ่นในแต่ละภูมิภาคได้” เบียร์อเมริกันก็สามารถทำออกมาเป็น “เบียร์สไตล์เบลเยี่ยม” ได้ ในขณะที่เบียร์เยอรมันมีรสชาติออกเปรี้ยว, มีกลิ่นควัน หรือเบค่อน ไม่ไลท์ หรือสดชื่นเหมือนคุณลักษณะสำคัญทั่วไปของเบียร์ลาเกอร์ ดังนั้น เวลาสั่งเบียร์ ให้คำนึงถึงรสชาติ และสไตล์เป็นหลัก
ขั้นตอน 2: ขอชิมเบียร์ตัวอย่าง
โดยทั่วไปแล้ว บาร์คราฟท์เบียร์ส่วนใหญ่จะมีตัวอย่างเบียร์ให้คุณได้ชิมก่อนสั่ง ดังนั้น คุณควรสั่งมาชิมสัก 2-3 ตัวอย่างก่อนสั่งจริง “ไม่ควรต้องรู้สึกเกรงใจที่จะขอชิม ให้พูดไปเลย ‘ขอผมชิมตัวนี้หน่อยได้ไหมครับ?'” คุณ Engert กล่าว มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเขินอายแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ควรชิมเบียร์ทุกตัวบนเมนู
ขั้นตอน 3: เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ให้สั่งได้เลย และไม่ต้องตกใจกับขนาด, ทรงแก้ว หรืออุณหภูมิของเบียร์ที่จัดเสิร์ฟ
ไม่ใช่เบียร์ทุกแบบ ทุกสไตล์ ที่จะเสิร์ฟแบบเย็นๆใส่น้ำแข็ง โดยหลักการทั่วไปแล้ว เบียร์สไตล์ลาเกอร์มักเสิร์ฟแบบเย็นๆในแก้วทรงตรง ในขณะที่เบียร์ที่มีเนื้อค่อนข้างหนัก มักเสิร์ฟในอุณหภูมิกลางๆ ในแก้วทรงดอกทิวลิป หรือทรงแก้วอ้วนที่เรียกกันว่า “snifter” นอกจากนี้ เรื่องของราคาก็เป็นปัจจัยสำคัญ อย่างเช่น เบียร์ IPA บางตัวไม่จำเป็นต้องเสิร์ฟในแก้ว snifter เพื่อช่วยในการปลดปล่อยรสชาติ แต่อาจเสิร์ฟในแก้วทรงมาตรฐานขนาด 10 ออนซ์แทน เนื่องจากมันอาจมีราคาสูงถึง $20 ต่อแก้ว อีกอย่าง เบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง คุณก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องดื่มเยอะขนาดนั้น
เป็นเรื่องปรกติที่เมื่อเวลาคุณสั่งเบียร์ตัวแปลกๆมาทานแล้วอาจรู้สึกไม่พอใจในรสชาติ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่คุณจะอ้างกับพนักงานเพื่อขอเงินคืน หรือขอเปลี่ยนเป็นเบียร์ตัวอื่นแทน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณได้ชิมเบียร์ตัวอย่างมาก่อนหน้านี้แล้ว) อย่างไรก็ตาม คุณ Engert แนะนำว่า คุณก็สามารถบ่นต่อพนักงานได้ในกรณีดังต่อไปนี้
- แก้วเบียร์ที่เสิร์ฟอุ่นเกินไป (กรณีนี้มักเกิดขึ้นจากการที่พนักงานหยิบแก้วที่เพิ่งอบเสร็จใหม่ๆหลังล้างเสร็จแล้ว)
- เบียร์มีรสชาติเปรี้ยวเกินไป ทั้งๆที่ไม่มีระบุบนฉลากว่า มันเป็นเบียร์ที่มีรสชาติเปรี้ยวนำ (ซึ่งเป็นไปได้ว่า เบียร์อาจเกิดการ “ติดเชื้อ”)
- ฟองเบียร์ไม่ฟูฟ่อง หรือที่เรียกกันว่า “flat” (ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า แก้วเบียร์ถูกล้างไม่สะอาด น้ำยาล้างจานยังถูกล้างออกไปไม่หมด ซึ่งไปทำปฎิกริยาทำให้ฟองเบียร์ไม่ฟ่องขึ้น)
ขั้นตอน 5: จำไว้ว่า มันก็แค่เบียร์!
ดื่มเบียร์ ต้องดื่มให้สนุก! อย่าให้เพื่อน “กูรูเบียร์” ของคุณมาสร้างกฎนู่นนี่นั่น เยอะเกินไปจนทำให้ช่วงเวลาที่มีความสุขนี้ของคุณ หมดไปเด็ดขาดครับ
เรียบเรียงจากบทควาทในเว็บไซต์ http://www.citylab.com