งานไวน์อิตาเลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด “Great Wines of Italy” กลับมาจัดอีกครั้งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากโรงไวน์กว่า 79 แห่งทั่วประเทศอิตาลีเข้าร่วม และถือเป็นงานไวน์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่จัดขึ้นในปีนี้
ผู้ผลิตไวน์ระดับโลกจากประเทศอิตาลี พากันยกทัพไวน์มากมายมาร่วมจัดแสดงภายในงาน ซึ่งสนับสนุนโดยเว็บไซต์ JamesSuckling.com งานนี้เอื้อประโยชน์ให้กับทั้งคอไวน์ ได้สัมผัสกับไวน์ที่ไม่มีวางจำหน่ายในตลาดเมืองไทย และผู้ผลิตไวน์ที่กำลังมองหาลู่ทางเพื่อมาเปิดตลาดในภูมิภาคแห่งนี้
ผมเปิดฉากการชิมด้วยสปาร์กลิ้งไวน์ของ Ferrari ซึ่งเป็นไวน์ผมอยากชิมมานานแล้ว เนื่องจากมีชื่อเสียงมาก โดยไวน์ cuvée ที่เป็นตัวท็อปของ Ferrari คือ Giulio Ferrari ซึ่งตั้งตามชื่อของผู้ก่อตั้งของโรงไวน์แห่งนี้ หลังชิมแล้ว ต้องบอกเลยว่าฉลากปี 2002 รสเยี่ยมยอดมาก
Giulio Ferrari ทำจากองุ่นสายพันธุ์ Chardonnay ที่ปลูกบนที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี แต่ถึงแม้จะได้รับการบ่มมานาน 13 ปี มันก็ยังคงมีรสชาติที่สดใหม่ และมีคาแรกเตอร์ที่สดใส
ฉลากถัดมา คือ Pinot Grigio และ Sauvignon Blanc ปี 2013 จากผู้ผลิต Livio Felluga หนึ่งในผู้ผลิตไวน์ขาวชั้นนำชองอิตาลีจากแห่งผลิตใน Colli Orientali Del Friuli ไวน์ทั้ง 2 ฉลากนี้ มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น และมีแอซิดิตี้มากพอที่จะทานคู่กับเมนูปลา และเมนูเป็ดไก่ ได้เป็นอย่างดี
ฉลากต่อมา ขอพาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี ผมได้จิบไวน์ Barolo 3 ฉลาก จากผู้ผลิตDamilano, Roberto Voerzio และ CaViola
ครั้งหนึ่ง ไวน์ Barolo เคยเป็นไวน์หวาน เนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถหายีสต์สมัยใหม่ที่จะเปลี่ยนน้ำตาลในไวน์ให้เป็นแอลกอฮอล์ได้ ทำให้ไวน์ยังคงมีความหวานหลงเหลืออยู่ จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ต่อมาของไวน์ Barolo คือ มีการปรับปรุงไวน์ Barolo ให้มีรสชาติที่ทันสมัยขึ้น โดยในเขต Barolo มันหมายถึงไวน์ที่ไม่ได้ใช้เวลาบ่มนาน 15 ถึง 20 ปี จนกว่าจะได้รสชาติที่พร้อมดื่ม
ในจำนวนไวน์ Barolo ทั้งหมดที่ผมชิม รสชาติของวินเทจ 2009 ดูเหมือนจะเข้าใจง่ายที่สุด ในขณะที่ฉลาก Voerzio 2009 Brunate มีรสชาติที่พร้อมดื่มที่สุด การเปิดขวดให้ไวน์ได้สัมผัสกับอากาศทิ้งไวน์ 2-3 ชั่วโมง จะสามารถช่วยให้ไวน์มีรสชาติดื่มง่ายขึ้น โดยไวน์ Barolo ฉลากแรกที่ผมจิบ ได้รับการแนะนำให้เปิดทิ้งไว้นานถึง 24 ชั่วโมงก่อนนำมาจิบ
โรงไวน์จำนวนมากที่ผลิตไวน์ Brunello di Montalcino ซึ่งถือเป็นไวน์ทัสกานีที่มีรสชาติเข้ม และสง่างาม ก็ตบเท้าเข้าร่วมงานนี้ด้วยเช่นกัน แต่ผมมีโอกาสได้สัมผัสเพียง 3 ฉลากเท่านั้น ได้แก่ Caparzo 2010, Luce 2012 และ Ruffino Modus 2011
Caparzo Brunello 2010 เป็นไวน์ที่ค่อยๆเผยรสชาติหลังจิบ (mid-palate) ทิ้งรสสัมผัสที่เนียนนุ่มหลังกลืนลงคอ ในขณะที่ Luce 2012 เป็นไวน์ที่ได้จากการผสมผสานขององุ่นสายพันธุ์ Merlot และ San Giovese ให้รสฟรุตตี้น่าหลงใหล ส่วน Ruffino Modus จริงๆแล้วเป็นไวน์ “super Tuscan” ทำจากองุ่นสายพันธ์ Sangiovese ผสมกับ Cabernet Sauvignon และ Merlot เป็นไวน์ที่มีรสดีในตอนนี้ แต่จะดีกว่านี้ถ้าเก็บต่ออีก 2 ปี
ผมเป็นแฟนไวน์ Taurasi ซี่งเป็นไวน์ที่ทำจากองุ่นสายพันธุ์ Aglianico มาระยะหนึ่ง โดยหนึ่งในโรงไวน์ที่ผลิตไวน์ชนิดนี้ คือ โรงไวน์ Donnachiara ซึ่งมีอายุมานานประมาณ 150 ปี ตั้งอยู่ในแคว้น Campania ทางตอนใต้ของอิตาลี แต่ได้พบกับจุดเปลี่ยนในปี 2005 เมื่อตระกูล Petito ได้เข้ามาทำการยกเครื่องใหม่ให้กับโรงไวน์แห่งนี้ โดยนำอุปกรณ์สมัยใหม่เข้ามาใช้
ผมได้ชิม Taurasi ปี 2012 ซึ่งมีคาแรกเตอร์กำยำ ส่วนไวน์ขาว Fiano di Avellino ปี 2014 มีรสชาตินุ่มนวล และสง่างาม
เลยไปทางใต้อีกหน่อย ผมได้สัมผัสกับไวน์จาก Pietradolce ซึ่งเป็นโรงไวน์ที่ค่อนข้างใหม่จากซิซิลีโดยคุณ James Suckling กล่าวว่า โรงไวน์ Pietradolce เป็นหนึ่งในผู้ผลิตจำนวนไม่กี่แห่งจากซิซิลี ที่เน้นผลิตไวน์ที่ดีมีคุณภาพ หรือ fine wine ไม่ใช่ผลิตไวน์แบบเน้นปริมาณ
นอกจากนี้ ผมยังประทับใจกับไวน์แดง Mt. Etna Rosso ปี 2014 ซึ่งทำจากองุ่นท้องถิ่นสายพันธุ์ nerello mascalese ปลูกในไร่ขนาด 11 เฮกตาร์ อุดมด้วยดินจากภูเขาไฟ อยู่บนที่ราบสูง เหนือระดับน้ำทะเล 600 – 900 เมตร ทำให้มีสภาพอากาศที่เย็นเหมาะกับการปลูกองุ่น ไวน์ฉลากนี้มีความโดดเด่นด้วยรสชาติที่นุ่ม และมีความบาลานซ์กลมกล่อม
ผมปิดท้ายด้วยไวน์ Amarone della Valpolicella จากผู้ผลิต Allegrini ของโปรดสมัยที่ยังเคยทำงานขายไวน์อยู่ และจำได้ว่า ฉลากนี้ขายดีมากเลยทีเดียว!
[เรียบเรียงจากบทความของ David Swartzentruber]