อาหารจะดี(ยิ่งขึ้น) ต้องมีคู่!… คราฟท์เบียร์ หรือไวน์ดี?
อาหารบางอย่างถูกลิขิตมาให้ทานคู่กัน ถึงจะอร่อยแบบสุดๆ เช่น พีนัทบัตเตอร์กับเยลลี่ ไข่กับเบค่อน สเต็กกับมันฝรั่ง เป็นต้น เช่นเดียวกัน อาหารบางเมนู ก็ต้องทานกับเครื่องดื่มบางชนิดเท่านั้น จึงจะฟินแบบทวีคูณ… อย่างไรก็ตาม เรื่องของรสชาติ ก็แล้วแต่ลิ้นใครลิ้นท่าน ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีอาหารกับเครื่องดื่มบางคู่ที่ทานร่วมกันแล้ว จะอร่อยกว่าคู่อื่นๆ
ประสบการณ์การจับคู่อาหารกับเครื่องดื่ม 3 รูปแบบ
แบบผิดฝาผิดตัว: ทั้งรสชาติของอาหารและเครื่องดื่ม ไปคนละทิศคนละทาง เหมือนจับแพะชนแกะ แบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไง แนะนำให้ลองทานปีกไก่สไตล์ hot & spicy แล้วจิบคู่กับไวน์แดงรสแรงๆ แทนนินสูงๆ แล้วจะรู้ว่า เป็นอย่างไร
แบบอร่อยครึ่งๆกลางๆ: แบบนี้คือ รสชาติของอาหาร หรือเครื่องดื่ม อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นดาวเด่น แต่เอามาจับคู่กับอีกอย่าง ซึ่งธรรมดาๆและไม่โดดเด่นอะไร ทำให้รสชาติโดยรวมที่ได้ ถูกบั่นทอนลง จากที่ควรจะอร่อยมาก ก็อร่อยกลางๆ เหมือนไปเกาหลี แต่ไม่ได้ทานกิมจิ อะไรทำนองนี้
แบบฟินสุดปรอท: นี่คือ สุดยอดของการจับคู่อาหารกับเครื่องดื่ม เพราะต่างรสชาติต่างส่งเสริมกันและกัน เป็นอย่างดี จนทำให้คุณไม่อยากหยุดทาน ไม่อยากหยุดจิบ เป็นช่วงเวลาแห่งความฟินโดยแท้จริง
อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคงคิดว่า การจับคู่อาหารกับเครื่องดื่มนั้น เป็นเรื่องที่พลิกแพลงได้ยาก วันนี้ เราจึงได้รวบรวมเอาการจับคู่อาหารและเครื่องดื่ม ทั้งที่เป็นคู่คลาสสิคของวงการไวน์ และอาหาร ตลอดจนแหวกแนวเล็กน้อย ด้วยการแมทช์คู่กับคราฟท์เบียร์ จนอาจทำให้บางคนเปลี่ยนใจ ไปกำขวดเบียร์ แทนหยิบแก้วไวน์ ก็เป็นได้…
ไข่คาเวียร์
ไวน์คู่คลาสสิค: Champagne
คู่คราฟท์เบียร์ ที่ควรลอง: Belgian Strong Golden Ale or Tripel
ไข่ปลาคาเวียร์ Sturgeon จัดได้ว่ามีรสชาตินุ่มละเอียด คล้ายแซลม่อน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะทานคู่กับเบียร์ที่มีรสชาตินุ่มๆ อย่าง Strong Golden Ale รสชาติของมอลต์ที่มาพร้อมเซนส์ของรสแครกเกอร์, ฟีนอลที่เผ็ดร้อนคล้ายพริกไทย, และรสดรายของแร่ธาตุ ช่วยลดล้างความเข้มข้นของคาเวียร์ได้เป็นอย่างดี พร้อมแทนที่ด้วยสเน่ห์รสชาติแบบเอิร์ธๆของเบียร์ขวดนี้ ในขณะที่โน้ตหวานๆของน้ำผึ้ง สอดรับอย่างสมดุลกับความเค็มของเนื้อไข่ปลา ทำให้คุณถวิลหาคำต่อไป อยู่เรื่อยๆ
หอยนางรม
ไวน์คู่คลาสสิค: Chablis
คู่คราฟท์เบียร์ ที่ควรลอง: Dry Stout
อาจฟังดูทะแม่งๆ เพราะด้วยหน้าตา และคาแรคเตอร์ที่แตกต่างเสียเหลือเกิน ระหว่างเบียร์ดำ กับไวน์สีจางๆ อย่าง Chablis ขวดนี้ แต่ความขม ดราย ที่มาพร้อมโน้ตควันนวลๆของเบียร์ Stout สามารถผูกเข้ากับความหวาน และโน้ตเค็มๆจากทะเลของหอยนางรมสดได้อย่างแนบชิดสนิทกัน แม้แต่ทานแกล้มกับหอยนางรมทอดที่มาในแซนวิชของ De’Po-boy ก็อร่อยเลิศ ไม่แพ้กัน
ล้อบสเตอร์
ไวน์คู่คลาสสิค: Chardonnay
คู่คราฟท์เบียร์ ที่ควรลอง: Red Ale สไตล์ Flanders หรือ Grand Cru
Grand Cru กับกุ้งล้อบสเตอร์ จัดเป็นคู่สร้างคู่สม ตัวจริง! รสชาติที่ซาบซ่าและเย้ายวนของเบียร์ขวดนี้ เมื่อทานคู่กับเนื้อกุ้งล้อบสเตอร์ จึงได้อรรถรสที่กลมกลืน พร้อมคาร์บอเนชั่นที่คืนความสดชื่นให้กับทุกๆคำ เข้าได้ดีกับเนื้อกุ้งล้อบสเตอร์รสหวาน และสดฉ่ำอย่างเป็นธรรมชาติ Grand Cru ยังมาพร้อมโน้ตเปรี้ยวของกรดแอซีติก ทำให้คุณไม่จำเป็นต้องบีบเลม่อนลงบนตัวกุ้งเลย นอกจากนี้ เนื้อล้อบสเตอร์ยังช่วยชูรสฟรุตตี้ของเบียร์ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรสของเชอร์รี่ดำ, เสาวรส และเคอร์แรนท์ พร้อมทิ้งรสชาติคล้ายไวน์แดงไว้ที่ปลายสัมผัส!
เป็ด
ไวน์คู่คลาสสิค: Pinot Noir
คู่คราฟท์เบียร์ ที่ควรลอง: Belgian Quadrupel
Belgian Abts หรือ Quadrupels มาพร้อมรสชาติสุดพิเศษของผลเชอร์รี่แห้ง และลูกพลัม เคล้าอโรม่าหอมกรุ่นที่ทำให้ทานอร่อยล้ำคู่กับเนื้อเป็ด ไม่ว่าเป็นเมนูไหนๆ รสชาติที่ซับซ้อนของเบียร์ Quadrupel ยังช่วยเสริมรสชาติที่เข้มข้นของเป็ดได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง เป็ดปักกิ่งที่ทานพร้อมผักดอง ราดซอส Hoisin หวานๆ เคียงคู่ไปกับเบียร์ Belgian Quadrupel ที่มาพร้อมอโรม่าของเชอร์รี่ เปลือกส้มปิ้ง และอบเชย ช่างวิเศษอะไรขนาดนี้… ว่าไหม?
สเต็ก
ไวน์คู่คลาสสิค: Cabernet Sauvignon
คู่คราฟท์เบียร์ ที่ควรลอง: Black Lager, Dry Stout หรือ “Black IPA”
ในการจับคู่สเต็กกับเครื่องดื่ม เรามักจะเลือกเครื่องดื่มที่มีสีเข้ม รสดราย แต่เนื้อวัวก็มีรสชาติที่หลากหลาย และแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อวัวแต่ละชิ้น นอกจากนี้ วิธีการทำก็สำคัญ หากคุณใช้วิธีย่าง ก็ควรเลือกเบียร์ที่มีกลิ่นหอมของมอลต์รมควัน ซึ่งจะช่วยชูรสรสชาติของเนื้อสเต็กย่างได้เป็นอย่างดี ในขณะที่เนื้อวัวที่เป็นส่วน flat-iron จะอร่อยฟินเฟ่อร์เมื่อทานคู่กับเบียร์รมควันสไตล์เยอรมัน หรือ Rauchbier ยิ่งถ้าเนื้อวัวถูกหมักหรือทาด้วยแล้วจะทำให้รสชาติอร่อยยิ่งขึ้น แต่หากสเต็กของคุณเป็นเนื้อส่วน filet mignon ที่เพียงนำมาจี่บนกระทะ ก็แนะนำทานคู่กับเบียร์ Dry Stout หรือแม้แต่เบียร์ร่วมสมัยอย่าง Black IPA/CDA เบียร์ดำอย่าง Black IPA ยังเหมาะทานคู่กับสเต็กประเภทเนื้อลายหินอ่อน และซอสเข้มๆ อย่าง Au Poivre และซอสที่เกิดจากการเคี่ยวให้ข้น เป็นต้น
เนื้อแลมบ์
ไวน์คู่คลาสสิค: Bordeaux
คู่คราฟท์เบียร์ ที่ควรลอง: Robust Porter/ Smoked Porter
หลายคนกล่าวว่า เนื้อแลมบ์เป็นเนื้อที่มีกลิ่นแรง แต่หลายคนก็ชอบทานเพราะเป็นเนื้อที่มีรสชาติเข้มข้น พื้นๆ ทานแกล้มคู่กับเบียร์ จึงให้รสชาติที่คล้องประสานอย่างเป็นธรรมชาติ ยกตัวอย่าง Porter ซึ่งมาพร้อมรสชาติของมอลต์เผาหอมๆ พอได้กลิ่นอบเบาๆ ช่วยเสริมรสชาติที่เข้ม จัด แรงของเนื้อแลมบ์ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ความเปรี้ยวซ่า คาร์บอเนชั่นกลางๆของเบียร์ขวดนี้ ทำหน้าที่เป็นตัวชำระล้าง ช่วยเบรกความมัน และเลี่ยนของไขมันเนื้อแลมบ์ได้อย่างสุดวิเศษ สำหรับผู้ที่ชอบทานเนื้อแลมบ์ย่าง ก็ขอแนะนำทานคู่กับเบียร์ Smoked Porters เพราะรสชาติควันนวลๆ หอมถ่านหินของเบียร์ขวดนี้ จะยิ่งเสริมให้รสชาติปิ้งๆย่างๆจานนี้ของคุณ โดดเด่น และน่าประทับใจยิ่งขึ้น
บาร์บีคิว
ไวน์คู่คลาสสิค: Rosé และ Zinfandel
คู่คราฟท์เบียร์ ที่ควรลอง: Saison, Double IPA & Black IPA
ในวงการไวน์ตอนนี้ เมื่อพูดถึงอาหารประเภทบาร์บีคิวแล้ว ไวน์ที่ต้องยกให้เป็นคู่แมทช์สุดยอด ก็คือ ไวน์ฟรุตตี้จากองุ่นขาวสายพันธุ์ Zinfandel และไวน์โรเซ่ ในขณะที่รสชาติหอมสมุนไพร และยีสต์ของเบียร์ Saison เข้าได้ดีกับพูลพอร์ก(Pulled Pork) และไก่ย่าง แถมยังคืนความสดชื่น ไม่หวานหรือมีรสชาติของมอลต์มากจนเกินไป สำหรับคนที่ชอบทานเนื้อส่วนอกสูตรกระเทียมพริกไทย และเลม่อน แนะนำให้ลองทานกับคู่ Double IPA ที่จะช่วยเสริมรสชาติเผ็ดร้อนของพริกไทย และกลิ่นหอมรมควันได้เป็นอย่างดี
ดาร์กช็อคโกแลต
ไวน์คู่คลาสสิค: Port
คู่คราฟท์เบียร์ ที่ควรลอง: Barleywine
ก่อนอื่น คำว่า ‘wine’ ใน Barleywine ไม่เกี่ยวข้องกับองุ่นแต่อย่างใด แต่เป็นชื่อที่ถูกตั้งในประเทศอังกฤษ ซึ่งเขาจำแนกประเภทเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง และตั้งชื่อว่า Barleywine ตามความแรงของเบียร์ประเภทนี้ รสชาติของท้อฟฟี่ คาราเมล และมอลต์ธัญพืช เคล้ารสชาติหวานแหลมๆ และแอลกอฮอล์สูงๆของ Barleywine ทำให้ทานร่วมกับช็อคโกแลต ได้อย่างอร่อยล้ำเลิศ โดยต้องทานที่อุณหภูมิสูง 55 หรือ 60°F เพราะหากเย็นกว่านี้ จะทำให้ช็อคโกแลตที่กำลังละลายอยู่ในปากเกิดภาวะช็อคตัว และทานไม่อร่อยในแบบที่ควรจะเป็น อรรถรสของเบียร์ที่ได้ ก็ยังจะขาดๆ ไม่สมบูรณ์แบบอีกด้วย หลักที่ต้องจำ คือ ในการทานดาร์กช็อคโกแลต ควรเลือกทานกับเครื่องดื่มที่ค่อนข้างหวาน และมีแอลกอฮอล์สูง นอกจากนี้ ความเค็มของช็อคโกแลตก็มีส่วนสำคัญ เพราะจะช่วยเสริมรสชาติความหวานให้มีเสน่ห์เย้ายวนยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงควรเลือกดาร์กช็อคโกแลตที่รสชาติออกเค็มๆ เพื่อประสบการณ์การแพริ่งที่ฟินขึ้น อีกระดับ!